การฝึกปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ชุมชน
หมายถึง การฝึกการนำความรู้ภาคทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติตามกระบวนการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์โดยใช้ชุมชนเป็นหน่วยการวิเคราะห์เพื่อดำเนินงานป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟู และพัฒนาประชากรกลุ่มเป้าหมายในชุมชนให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดี การดำเนินการจัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ชุมชน เป็น หนึ่งในรายวิชาบังคับภาคปฏิบัติของหลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตรบัณฑิต คณะสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 30 ปี ในปีการศึกษา 2563 ซึ่งผู้รับผิดชอบรายวิชา ได้ทำการถอดบทเรียนกระบวนการจัดฝึกภาคปฏิบัติจากอาจารย์ภาคสนาม นักศึกษา และผู้เกี่ยวข้องต่อเนื่อง มา 5 ปี คือ ระหว่างปีการศึกษา 2558-2562 เป็นการเลือกฝึกภาคปฏิบัติในพื้นที่ชนบท 1) จังหวัดฉะเชิงเทรา ปีการศึกษา 2558 2) จังหวัดเชียงใหม่ ปีการศึกษา 2559 3)จังหวัดขอนแก่น ปีการศึกษา 2560 4) จังหวัดน่าน ปีการศึกษา 2561 และ5) จังหวัดเพชรบูรณ์ ปีการศึกษา 2562 ได้มีแนวทางปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของนักศึกษา ดังนี้
1.การสร้างเสริมประสบการณ์ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ระบบครอบครัวอุปถัมภ์
ระบบทุนทางวัฒนธรรมและทุนทางสังคมด้วยการนำนักศึกษาเข้าไปพักอาศัยกับครอบครัวอุปถัมภ์ในชุมชนตลอดระยะเวลาของการฝึกภาคปฏิบัติ พบบทเรียนที่สำคัญ ดังนี้
1.1 เกณฑ์การคัดเลือก และการดูแลนักศึกษาระหว่างที่พักค้างอยู่อาศัยกับครอบครัวอุปถัมภ์
เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้บทบาทครอบครัวและสนับสนุนการเรียนรู้ของนักศึกษาในชุมชนทุกพื้นที่ คือ
1) ทีมคัดเลือกครอบครัวประกอบด้วย ผู้นำชุมชนที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการที่มีประสบการณ์รับนักศึกษาหรือบุคคลภายนอกเข้ามาศึกษาเรียนรู้ในชุมชน เข้าใจงานด้านสังคมสงเคราะห์ปัจจุบัน มีอาสาสมัครพัฒนาสังคมเป็นบุคคลสำคัญในการคัดเลือกครอบครัวร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอาจารย์ภาคสนามจากหน่วยงาน ร่วมกันประสานชี้แจงทำความเข้าใจกับชุมชนเรื่องการฝึกภาคปฏิบัติของนักศึกษา กำกับดูแลตลอดการฝึกภาคปฏิบัติหากมีปัญหาอุสรรคจะทำหน้าที่วิเคราะห์วินิจฉัยปรับปรุงและแก้ไขปัญหาร่วมกัน จนสิ้นสุดการฝึกภาคปฏิบัติ ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายปกครอง คือ นายอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
2) เลือกครอบครัวอุปถัมภ์ ให้ทำหน้าที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยได้ และสนับสนุนกระบวนการฝึกปฏิบัติของนักศึกษาให้สามารถศึกษาชุมชน วิเคราะห์วางแผน ดำเนินการและติดตามผลการทำงานได้ สนับสนุนการเข้าร่วมประชุมและมีส่วนร่วมในกิจกรรมชุมชน หน่วยงาน และกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวของกับระบวนการฝึกภาคปฏิบัติได้ ที่สำคัญขอให้เกิดจากการยินดีและพร้อมที่จะรับนักศึกทั้งระบบของครอบครัว คือสมาชิกในครอบครัว บ้านที่อยู่อาศัย และสิ่งแวดล้อมของที่อยู่อาศัย
3) เตรียมความพร้อมนักศึกษาเรื่องการพักอาศัยและการปฏิบัติตนของนักศึกษาก่อนเข้าฝึกภาคปฏิบัติในพื้นที่
4)จำนวนนักศึกษาต่อครอบครัวอุปถัมภ์ จำนวน 2 คนต่อครอบครัว
5) ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์ line face book และอื่น ๆ วางระบบรับข้อมูลข่าวสารและให้คำปรึกษาทั้งนักศึกษาและครอบครัวอุปถัมภ์อย่างใกล้ชิด
วันส่งมอบนักศึกฝึกปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ชุมชน ให้ครอบครัวอุปถัมภ์ พื้นที่ท่าพล อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัด นายนิเวศน์ หาญสมุทร์ และนายอําเภอเมืองเพชรบูรณ์ นายชัยสิทธิทธิ์ ชัยสัมฤทธิ์ผลให้การต้อนรับและส่งมอบนักศึกษาให้ครอบครัว

ผลการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น เป็นการช่วยให้นักศึกษาและครอบครัวปรับตัวเข้าหากันได้ง่าย เมื่อเกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวอุปถัมภ์และนักศึกษาสามารถช่วยแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที ตลอดระยะเวลาการฝึกภาคปฏิบัตินักศึกษาได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวในการทำงานชุมชน การนำหรืออำนวยความสะดวกให้เข้าร่วมประชุมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดระยะเวลาของการฝึกภาคปฏิบัติ อย่างไรก็ตามทั้งนักศึกษาและครอบครัวได้พัฒนาความผูกพันธ์เป็นลูกเป็นหลานที่พ่อแม่พี่น้องและเครือญาติช่วยดูแลนักศึกษา ขณะเดียวกันนักศึกษาได้พัฒนาความสัมพันธ์ในบทบาทของความเป็นบุตรหลานของครอบครัว ซึ่งเป็นการเรียนรู้บทบาทสมมติที่เสมือนจริงในระยะเวลาหนึ่ง ได้เกิดกระบวนการเยียวยาให้เกิดการเติบโตจากภายในของนักศึกษาเรื่องความรับผิดชอบต่อตนเองและสมาชิกในครอบครัว บางรายลึกซึ้งถึงขั้นทดแทนสิ่งที่ขาดคือความรักความอบอุ่นของระบบครอบครัวที่นักศึกษาบางรายมีปมเรื่องขาดความรักความอบอุ่นในครอบครัว ครอบครัวอุปถัมภ์บางรายเหงาขาดการดูแลจากบุตรหลานก็จะได้ความรักความอบอุ่นจากนักศึกษา วันสุดท้ายของการรับนักศึกษากลับบ้านคือวันที่ทั้งสองฝ่ายต้องทำใจ ใช้เวลาสั่งลากันเป็นเวลานาน มีการกอดลากันเหมือนสมาชิกในครอบครัว มีของฝากเป็นจำนวนมาก ระหว่างเดินทางกลับอาจารย์ยังเห็นการโทรศัพท์ ส่งข้อความทาง line การแสดงความรู้สึกดีๆ ขอบคุณและแสดงความคิดถึงผ่าน Face book ต่อเนื่องอยู่หลายวัน มากไปกว่านั้นมีการส่งของฝากให้นักศึกษาแบบลูกหลานอย่างต่อเนื่องในระหว่างที่นักศึกษากลับมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย และมีบางรายยาวไปถึงมาร่วมแสดงความยินดีในงานประสาทปริญญาบัตรด้วย


1.2 การพักอาศัยไปพร้อมกับการฝึกปฏิบัติงานในชุมชนเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษา
ได้เรียนรู้การปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ผ่านระบบทุนทางวัฒนธรรมและทุนทางสังคม อันสืบเนื่องมาจากการฝึกปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ชุมชนยังไม่สามารถพัฒนาความร่วมมือให้เกิดการบูรณาการให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนและงบประมาณของหน่วยงานและพื้นที่ได้ ประกอบกับการฝึกปฏิบัติทางหลักสูตรไม่มีงบประมาณสนับสนุนการทำกิจกรรมและโครงการในพื้นที่ กระบวนการเรียนรู้ของนักศึกษาได้รับมอบหมายให้เริ่มต้นเรียนรู้ว่าคนในพื้นที่มีกระบวนการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของกลุ่มเปราะบางและกลุ่มเป้าหมายในงานสังคมสงเคราะห์อย่างไร ทั้งภาคชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักศึกษาได้เรียนรู้ทุนวัฒนธรรม กิจกรรมงานบุญและประเพณีต่าง ๆ เป็นการบริหารจัดการทางสังสังคมในชุมชนที่ทำให้คนในชุมชนมีความสุขใจ นับว่าเป้นการเข้าถึงสวัสดิการด้านสุนทรีย์และนั้นทนาการของคนในชุมชน ผ่านกิจกรรมฟื้นฟูวัฒนธรรม เช่น นักศึกษาทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มเป้าหมายสูงอายุในการฟื้นฟูท่ารำและเพลงพื้นบ้านเป็นการช่วยให้กลุ่มเป้าหมายมีความสุขใจ สนุกสนานและได้ออกกำลังกาย กรณีตัวอย่างการฝึกภาคปฏิบัติที่จังหวัดน่านการฟื้นฟูท่ารำและจัดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้มีการฝึกซ้อมและแสดงท่ารำประกอบเพลงร่วมกันทำนอกจากจะทำให้ผู้สูงอายุปัจเจกบุคคลมีความสุขแล้วยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มและมีความสมัครสมานสามัคคีกันเพิ่มขึ้น ดังอาจารย์ภาคสนามประจำได้กล่าวว่า “โครงการฟื้นฟูท่ารำของนักศึกษา ทำให้ผู้สูงอายุที่แบ่งแยกกันระหว่างข้าราชการเกษียณ และผู้สูงอายุที่เป็นเกษตรกร หันหน้ามารวมกลุ่มร่วมมือกันทำกิจกรรม ที่สำคัญสามารถนัดประชุมผู้สูงอายุได้ง่ายขึ้น เป็นต้น” ระบบทุนทางสังคมที่ให้การดูแลผู้ป่วยจิตเวชให้อยู่ร่วมในชุมชนโดยไม่เข้ารับการรักษาซ้ำในโรงพยาบาล เช่น การรวมตัวกันเป็นชมรมผู้ปกครองผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน ช่วยกันดูแลให้ผู้ป่วยอยู่ในชุมชนอย่างมีความสุข มีระบบกำกับดูแลการกินยาของผู้ป่วย การส่งเสริมให้ผู้ป่วยให้ทำงานและมีอาชีพในชุมชน มีระบบรับยาในสถานพยาบาลใกล้บ้าน ควบคู่กับมีการจัดกิจกรรมบำบัดและฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน การคุ้มครองผู้เปราะบางทางสังคม เช่น ผู้นำและคนในชุมชนได้จัดหาปัจจัย 4 และจัดระบบดูแลผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้งจากบุตรหลานโดยระบบชุมชน ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมายในชุมชนที่ไม่ต้องรอการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐหรือบุคคลภายนอก

นักศึกษาได้สะท้อนความประทับใจและบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากชุมชน ดังนี้
•ชีวิตความเป็นอยู่และภูมิปัญญาของผู้สูงอายุในชุมชน
•แกนนำในพื้นที่ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี
•ผู้สูงอายุในพื้นที่ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรม
•คนในชุมชนน่ารักและให้การต้อนรับดี
•รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การดูแลและให้ความช่วยเหลือนักศึกษาของผู้สูงอายุและคนในชุมชน
•ประทับใจความอบอุ่นของครอบครัวอุปถัมภ์
และประมวลได้จากภาพถ่ายที่นักศึกษาบันทึกระหว่างอยู่ในชุมชน โดยสังเขป ดังนี้








ระบบการนิเทศงานนักศึกษาแบบทีมสหวิชาชีพ ที่มีองค์ประกอบคือ
1) การนิเทศเชิงวิชาการเป็นบทบาทของอาจารย์นิเทศจากหลักสูตร
2) การนิเทศการปฏิบัติและชีวิตการทำงานเป็นอาจารย์จากหน่วยงานร่วมรับผิดชอบ จะเป็นทีมอาจารย์ภาคสนามจากหน่วยงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โรงพยาบาล องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และ
3) การนิเทศการใช้ชีวิตและการปฏิบัติงานในชุมชนประกอบด้วยผู้นำทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการในชุมชน และ ครอบครัวอุปถัมภ์ การฝึกภาคปฏิบัติปีการศึกษา 2562 จังหวัดเพชรบูรณ์ มีผู้เกี่ยวข้องสรุปได้ดังนี้
ระบบการนิเทศทั้ง 3 องค์ประกอบมีการเชื่อมโยงหนุนเสริมให้นักศึกษาได้เกิดการเรียนรู้ในตัวนักศึกษามากขึ้น เมื่อทุกระบบทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และเข้าใจกระบวนการดูแลนักศึกษาร่วมกัน โดยอาจารย์นิเทศจากหลักสูตรได้ทำหน้าที่กำกับติดตามระบบนิเทศให้ทำหน้าแบบเรียนรู้ร่วมกัน ดังแผนภูมิที่ได้จากการถอดบทเรียนร่วมกันข้างล่างนี้
สรุปได้ว่ากระบวนการฝึกปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ชุมชน
ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบของระบบการนิเทศงานที่สำคัญคือนิเทศวิชาการ นิเทศการปฏิบัติ และนิเทศการใช้ชีวิตในชุมชน การคัดเลือกและการบริหารจัดการระบบครอบครัวอุปถัมภ์เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ การส่งเสริมการเรียนรู้การพัฒนาต่อยอดทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรมเป็นทรัพยากรสนับสนุนการดำเนินงานสังคมสงเคราะห์ชุมชน เนื่องจากระยะเวลาสั้น ขณะนี้ยังมีความเป็นไปได้ยากที่นักศึกษาจะสามารถฝึกปฏิบัติตามเนื้องานตามแผนและงบแประมาณขององค์กรฝึกภาคปฏิบัติ เว้นแต่เป็นการพัฒนาความร่วมมือการเรียนรู้และพัฒนางานร่วมกันระหว่างสถานศึกษาและองค์กรปฏิบัติ
อาจารย์นวลใย วัฒนกูล
ประธาน คณะกรรมการฝึกภาคปฏิบัติ 2 การปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ชุมชน คณะสังคมสงเคราะห์สาสตร์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เป็นผู้เรียบเรียง