การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การวิจัย เรื่อง “การวิจัยเพื่อการปรับปรุงนโยบายและการปฏิบัติงานสวัสดิการสังคมให้มีประสิทธิภาพ” วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 เวลา 13.30 – 16.30 น.

ผู้เข้าร่วมการถอดบทเรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประกอบด้วย อ.นวลใย วัฒนกูล อ.ดร.นุชนาฎ ยูฮันเงาะ อ.ดร.กฤตวรรณ สาหร่าย และผู้แทนจากองค์กรภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านเด็กและเยาวชน

ความเป็นมา
สืบเนื่องจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในปีการศึกษา 2564 เรื่อง ทำวิจัยอย่างไรจึงจะมีผลกระทบต่อนโยบาย โดย รศ.ดร.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร เป็นผู้ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของตนเอง บทสรุปคือ
1) ต้องทำงานวิจัยให้ให้มีคุณภาพ
2) ต้องสร้างระบบและกลไกการบริหารงานวิจัยให้มีประสิทธิภาพ
3) ต้องประสานงานกับหน่วยงานที่ให้ทำวิจัยอย่างใกล้ชิด
4) ต้องสร้างแนวร่วมในการขับเคลื่อนผลการวิจัยสู่การปรับเปลี่ยนนโยบาย
5) ต้องมีการ RAA & AAR อย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นในปีการศึกษา 2565 คณะฯได้มีการดำเนินการวิจัย 2 เรื่อง ที่หน่วยงานต้องการนักวิชาการร่วมขับเคลื่อน คือ 1) การพัฒนาระบบกลไกคุ้มครองเด็ก เพื่อส่งเสริมให้เด็กเติบโตในครอบครัว เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง กรมกิจการเด็ก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สหทัยมูลนิธิ องค์การ Care for Children Thailand และมูลนิธิก้าวหน้าพัฒนา และนักวิชาการจากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ งานวิจัยนี้เพื่อส่งเสริมให้องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนมีแนวทางสำหรับการส่งเสริมให้เด็กเติบโตในครอบครัวมากกว่าอยู่ในสถานสงเคราะห์ หรือสถานดูแล 2) การจัดการความรู้ด้านการฟื้นฟูและพัฒนาเด็กพิการและคนพิการเพื่อการเสริมสร้างสมรรถนะการเรียนรู้ของคนพิการ ได้รับการสนับสนุนงบวิจัยจาก มูลนิธิเพื่อเด็กพิการและ สสส.(สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) งานวิจัยนี้เพื่อนำการถอดบทเรียนการฟื้นฟูเป็นแนวทางการทำงานกับผู้ปกครองในการดูแลเด็กพิการ/คนพิการ

อ.ดร.กฤตวรรณ สาหร่าย รองคณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม แนะนำโครงการการวิจัยถอดบทเรียนการพัฒนากลไกคุ้มครองเด็กเพื่อสนับสนุนให้เด็กเติบโตในครอบครัว ว่าได้มีการร่วมลงพื้นที่นิเทศงาน ให้คำแนะนำปรึกษาแก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ และเข้าร่วมสังเกตการณ์การจัดกิจกรรมโครงการนำร่อง ฯ ร่วมกับคณะกรรมการโครงการและเลขานุการทั้ง 4 ภูมิภาค ได้มีการจัดกิจกรรมถอดบทเรียนเมื่อสิ้นสุดการดำเนินงานโครงการฯ เมื่อวันที่ 29-31 สิงหาคม 2565 มีข้อค้นพบที่ขอนำเสนอเพื่อการขับเคลื่อนงานโครงการนำร่องต่อในปี 2566 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนี้

งานวิจัยเรื่องการพัฒนากลไกคุ้มครองเด็ก เพื่อสนับสนุนให้เด็กเติบโตในครอบครัว มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษากระบวนการดำเนินการของบ้านพักเด็กและครอบครัว สถานรองรับเด็กในการจัดบริการสำหรับเด็กในครอบครัวเปราะบาง สนับสนุนให้กครอบครัวมีความสามารถในการเลี้ยงดูเด็ก และการจัดบริการเลี้ยงดูทดแทนรูปแบบอื่นอย่างเหมาะสมในปัจจุบัน และเป็นแนวทางการพัฒนากลไกคุ้มครองเด็กเพื่อสนับสนุนให้เด็กเติบโตในครอบครัว

ในการดำเนินการ ใช้วิธีการ 1) เข้าร่วมในกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2) เข้าร่วมรับฟังกระบวนการปฏิบัติงานที่เผ่านมาของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น บ้านพักเด็กและครอบครัว สถานสงเคราะห์ สถานรองรับเด็ก เป็นต้น 4) ลงพื้นที่และเข้าร่วมรับฟังการปฏิบัติงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 5) การจัดเสวนากลุ่มการถอดบทเรียนการพัฒนากลไกคุ้มครองเด็กเพื่อให้เด็กเติบโตในครอบครัว ซึ่งจากการดำเนินงานวิจัย พบกระบวนการทำงานที่สำคัญโดยใชวิธีการจัดการรายกรณี และการเสริมพลัง ดังนี้

ในขณะเดียวกันองค์ประกอบพื้นฐานที่จะทำให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เพื่อร่วมกันสร้างกลไกคุ้มครองเด็ก เพื่อส่งเสริมให้เด็กเติบโตในครอบครัว ประกอบด้วย กลไกคัดกรองเด็กก่อนเข้าสู่การเลี้ยงดูทดแทน แผนการเลี้ยงดูเด็กรายบุคคล การคืนเด็กสู่ครอบครัว และการสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัว

สำหรับข้อเสนอแนะในการศึกษาครั้งนี้คือ
– ทีมผู้บริหารมีความคิดเห็นต่อโครงการฯว่า มีข้อดี คือ ทำให้เด็กได้อยู่กับครอบครัว มีโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากาการได้รับริการครอบครัวอุปถัมภ์ทางเลือกที่เหมาะสม หน่วยงานมีจุดแข็งในด้านเครือข่าย NGO หน่วยงานภาครัฐและเอกชน มีการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ และมีกลไกคุ้มครองเด็กที่เชื่อมโยงกับภาคชุมชน แต่อุปสรรคและข้อท้าทายในการดำเนินงานที่สำคัญ คือ ระเบียบของกรมที่ยังมีข้อจำกัด บุคลากรไม่เพียงพอกับงาน ทัศนคติของครอบครัวและเครือญาติต่อการเลี้ยงดูทดแทน จึงมีความจำเป็นต้องดำนเจงานร่วมกับการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจในเวทีต่าง ๆ สร้างความเข้มแข็งของครอบครัว เพิ่มองค์ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ให้ชัดเจน ควรมีการศึกษาดูงานตั้วอย่าง Best Practice ที่ประสบความสำเร็จจากนหน่วยงานอื่น ๆ เช่น CP

– ทีมผู้ปฏิบัติงานมีความคิดเห็นต่อโครงการฯ ว่า ข้อจำกัด/ปัญหา/อุปสรรคในการดำเนินงานในเรื่องเอกสารยื่นขอเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ ครอบครัวทดแทน การส่งตัวเด็ก การตรวจประวัติอาชญากรรมฯลฯ มีขั้นตอนและกระบวนการที่ใช้เวลานาน เนื่องจากบ้านพักเด็กและครอบครัว มีเวลาในการทำงานต่อเคสในระยะเวลา 3 เดือน จึงเกิดความยากหาเคสนั้นมีความซับซ้อน จำเป็นต้องส่งต่อเด็กสู่สถานสงเคราะห์ และเกิดปัญหาเด็กอยู่ในสถานระยะยาว จำนวนบุคลากรไม่เพียงพอตอ่การดูแลเด็ก ขาดงบประมาณในการขับเคลื่อนงานการสนับสนุนครอบครัวให้เลี้ยงดูเด็ก และทัศนคติของคนในชุมชนยังไม่เข้าใจความสำคัญของการเลี้ยงดูเด็กในครอบครัว ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพูดคุยหารือ ทำความเข้าใจปรึกษาเรื่องของเคสมากขึ้นในทุก ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน สร้างการทำงานในระดับภูมิภาค (นำร่อง) ให้เข้มแข็งก่อนที่ขยายไปสู่ระดับประเทศ ควรมีการพัฒนาองค์ความรู้และคเรื่องมือในการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ และให้มีการประชาสัมพันธ์ในสื่อออนไลน์รวมถึงออฟไลน์ควบคู่กันไป

ผลการนำไปใช้ประโยชน์
ในที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันที่จะนำแนวคิดที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้ ขยายผลนำร่องดำเนินการที่สถานคุ้มครองเด็ก จ.ขอนแก่น เพื่อเป็นแนวทางในการนำผลในหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนากลไกคุ้มครองเด็กเพื่อส่งเสริมให้เด็กเติบโตในครอบครัวต่อไป

Loading